การเว้นวรรค

หลักเกณฑ์การเว้นวรรค

        ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย การเว้นช่องว่างระหว่างคำ ข้อความหรือประโยคให้ถูกต้องเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ข้อเขียนนั้นมีความถูกต้อง แจ่มแจ้ง ชัดเจน และอ่านได้ตรงตามความต้องการของผู้เขียน

        วรรค คือ คำ ข้อความ หรือประโยคช่วงหนึ่ง ๆ
        การเว้นวรรค หมายถึง การเว้นช่องว่างระหว่างวรรค

        การเว้นวรรคแบ่งออกเป็น

        – การเว้นวรรคเล็ก มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณเท่ากับความกว้างของพยัญชนะ ก
        – การเว้นวรรคใหญ่ มีระยะห่างระหว่างวรรคประมาณ ๒ เท่าของการเว้นวรรคเล็ก

        ในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย มีหลักเกณฑ์ในการเว้นวรรค ดังนี้

๑. กรณีที่ต้องเว้นวรรค

        ๑.๑ การเว้นวรรคใหญ่
                 เว้นวรรคใหญ่เมื่อจบข้อความแต่ละประโยค

ตัวอย่าง

                 (๑) นั่งให้เรียบร้อย อย่าไขว่ห้าง
                 (๒) วิทยาการเป็นต้นธารให้บังเกิดความรู้และความสามารถในอันที่จะประกอบกิจตามหน้าที่ได้ดี ความเจริญงอกงามทั้งทางจิตใจและทางวัตถุย่อมเป็นผลสืบเนื่องมาจากวิทยาการ บ้านเมืองจะเจริญหรือเสื่อมก็เนื่องด้วยวิทยาการ

        ๑.๒ การเว้นวรรคเล็ก
                 เว้นวรรคเล็ก ในกรณีต่อไปนี้

                 ๑.๒.๑ ในประโยครวมให้เว้นวรรคเล็กระหว่างประโยคย่อยที่มีใจความสมบูรณ์และเชื่อมกับประโยคอื่น ๆ ที่ขึ้นต้นด้วยคำสันธาน “และ” “หรือ” “แต่” ฯลฯ

ตัวอย่าง

                 (๑) นายแดงอยู่ที่บ้านคุณพ่อของเขาที่ปากน้ำโพ แต่พี่ชายของเขาอยู่ที่บ้านซื้อใหม่ในกรุงเทพฯ
                 (๒) การเขียนหนังสือโย้หน้าเย้หลังไม่เป็นระเบียบ หรือการขาดความระมัดระวังในเรื่องช่องไฟ อาจเป็นเครื่องหมายส่อนิสัยของผู้เขียนเองได้
                 (๓) พุทธกับไสย แม้ต่างกันเป็นคนละด้าน แต่ก็ไม่เป็นสิ่งขัดแย้งกันในความเชื่อถือของคนชั้นสามัญทั่วไป

แต่ถ้าเป็นประโยคสั้นให้เขียนติดกัน

ตัวอย่าง

                 (๑) ฉันและเธอไปโรงเรียน
                 (๒) เขาอยากได้ดีแต่เขาก็ไม่ได้ดี
                 (๓) น้ำขึ้นแต่ลมลง

                 ๑.๒.๒ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อกับนามสกุล

ตัวอย่าง

                 นายเสริม วินิจฉัยกุล

                 ๑.๒.๓ เว้นวรรคเล็กหลังคำนำพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ พระนาม และฐานันดรศักดิ์                 

ตัวอย่าง

                 (๑) สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
                 (๒) สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
                 (๓) สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์
                 ๑.๒.๔ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อบริษัท ธนาคาร ฯลฯ กับคำ “จำกัด” ที่อยู่ท้ายชื่อ

ตัวอย่าง

                 (๑) บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มั่นคง จำกัด
                 (๒) ธนาคารทหารไทย จำกัด

                 ๑.๒.๕ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” และ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” กับชื่อ

ตัวอย่าง

                 (๑) ห้างหุ้นส่วนจำกัด วีวรสิน
                 (๒) ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามัญนิติบุคคล ปัญญากิจ

                 ๑.๒.๖ เว้นวรรคเล็กระหว่างชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ถนน ตำบล/แขวง อำเภอ/เขต จังหวัด

ตัวอย่าง

                 ราชบัณฑิตยสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ถนนหน้าพระลาน
                 แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

                 ๑.๒.๗ เว้นวรรคเล็กระหว่างคำนำหน้านามแต่ละชนิด
ตัวอย่าง

                 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงเกษตร สนิทวงศ์ หรือ
                 ศ. นพ. ม.ล.เกษตร สนิทวงศ์

                 ๑.๒.๘ เว้นวรรคเล็กระหว่างยศกับชื่อ

You may also like...